ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ เป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ราชบัณฑิตและหัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เกิดวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2493 ที่กรุงเทพมหานคร ที่โรงพยาบาลหัวเฉียว ในช่วงงานภูเขาทองเพราะแม่บอกว่ามีเสียงงานภูเขาทอง เป็นแฝดน้องของ รศ ยืน ภู่วรวรรณ หลังจากนั้นได้ย้ายไปอยู่ภูมิลำเนาเดิมของแม่ ที่ตำบลโพรงมะเดื่อ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม จบการศึกษามัธยมจากพระปฐมวิทยาลัย และ มัธยมศึกษาตอนปลายที่เตรียมอุดมศึกษา หลังจากนั้น เข้าศึกษาคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ารับการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางสาขากุมารเวชศาสตร์ (2518-2521) จากนั้นบรรจุเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ และได้ไปฝึกอบรมเป็น research fellow ที่ King’s College Hospital Medical School กรุงลอนดอน ประเทศสหราชอาณาจักร (2527-2528) รับราชการเป็นอาจารย์ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ระดับ 11 ในสาขาวิชากุมารเวชศาสตร์
ตลอดระยะเวลา 35 ปี ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ เป็นผู้ทุ่มเทให้กับการเรียนการสอน งานวิจัย และบริการ อย่างต่อเนื่อง เป็นอาจารย์สอนในสาขาโรคตับในเด็กให้กับนักศึกษาแพทย์ สอนและดูแลนิสิตปริญญาโท และเอก และหลังปริญญาเอก ทางด้าน Molecular Biology และไวรัสวิทยา แพทย์ประจำบ้าน ทั้งในคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และมหาวิทยาลัย ต่าง ๆ ในประเทศไทย มีผลงานวิจัยทางด้านโรคตับ ไวรัสวิทยา ไข้หวัดใหญ่ อย่างต่อเนื่องเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติในเรื่อง ไวรัสตับอักเสบ และการป้องกัน โดยเฉพาะการป้องกันด้วยวัคซีน งานวิจัยเรื่องโรคตับในเด็กและการศึกษาในแนวลึก วิทยาศาสตร์การแพทย์ อณูชีววิทยาทางการแพทย์ จากผลงานดังกล่าวทำให้ศาสตราจารย์นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2534 ผลงานวิจัยดีเยี่ยม จากสำนักงานสภาวิจัยแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2536 รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติในปี พ.ศ. 2540 และได้รับพระราชทานรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของไทย ของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมย์ เมื่อปี พ.ศ. 2540 รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล-บี บราวน์ เพื่อการแพทย์และสาธารณสุขไทยประจำปี พ.ศ. 2546 งานวิจัยทางด้านไวรัสวิทยา โดยเฉพาะไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก และไวรัสชนิดต่าง ๆ ในประเทศไทย ทำให้ ศาสตราจารย์นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ เป็นที่ยอมรับทางด้านวิชาการและงานวิจัยในระดับชาติและนานาชาติ จึงได้รับเชิญให้ไปบรรยายในที่ประชุมระดับนานาชาติที่สำคัญระดับโลก โดยเฉพาะทางด้านไวรัสตับอักเสบ อยู่เป็นนิจ ศาสตราจารย์นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ ได้รับพระราชทาน เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมธีวิจัยอวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนันการวิจัยแห่งประเทศไทย สกว ศาสตราจารย์ดีเด่น สำนักงานกองทุนสนับสนันการวิจัยแห่งประเทศไทย ทุนวิจัยแกนนำประจำปี 2014 จาก สวทช ได้รับเชิญเป็นกองบรรณาธิการวารสารวิชาการระดับนานาชาติ จำนวนมาก
จากผลงานวิจัยที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณจึงได้รับให้เป็นเมธีวิจัยอาวุโส สกว ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา รวมถึง 3 ครั้ง ทุนศาสตราจารย์ดีเด่น จาก สกว สกอ และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี พศ. 2554-2557 และยังได้รับทุนเครือข่ายวิจัยกลุ่มโรคอุบัติใหม่จากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ) ในปี พศ 2551-2553 โดยมีการรวมกลุ่มวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทำศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ทางคลินิก ระบาดวิทยาการป้องกันไวรัสตับอักเสบในประเทศไทย โรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ และอณูชีววิทยาทางการแพทย์ นอกเหนือไปจากการเรียนการสอนของนิสิตแพทย์ แพทย์เวชปฏิบัติ แพทย์ประจำบ้าน เป็นที่ปรึกษาให้อาจารย์รุ่นใหม่ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในประชาคมวิจัยสำหรับประเทศต่อไปอีกด้วย งานทางวิชาการที่ได้มีการเผยแพร่ผลงานวิจัยในวารสารนานาชาติที่อยู่บนฐานข้อมูล MEDLINE หรือ PubMed มีมากกว่า 450 เรื่อง รวมทั้งมีผลงานที่ถูกอ้างอิงในวารสารและหนังสือระดับนานาชาติ มากกว่า 6,000 ครั้ง (บนฐานข้อมูล Scopus) และมี H-index 36
คณะกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ ได้พิจารณาเห็นว่า ศาสตราจารย์นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ แห่งคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อุทิศตนให้กับการวิจัยด้านโรคไวรัสตับอักเสบในประเทศไทย โดยเฉพาะในเด็กอย่างจริงจัง และต่อเนื่องเป็นเวลามากกว่า 19 ปี โดยได้ศึกษาถึงอาการทางคลินิก และชนิดของไวรัสตับอักเสบ ตลอดจนศึกษาวิจัยถึงปัญหาการระบาด และการป้องกันไวรัสตับอักเสบในประเทศไทย ผลงานวิจัยจำนวนมากเป็นประโยชน์ด้านการแพทย์และสาธารณสุขในการวินิจฉัยโรค และรักษาผู้ป่วย ศาสตราจารย์นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ เป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์ มีจริยธรรม และคุณธรรมของนักวิจัย สมควรเป็นแบบอย่างแก่นักวิจัยอื่น